วิธีดูแลหลังขับรถลุยน้ำ

Last updated: 9 พ.ย. 2565  |  476 จำนวนผู้เข้าชม  | 

วิธีดูแลหลังขับรถลุยน้ำ

ตรวจสภาพห้องโดยสารหลังรถลุยน้ำ

สิ่งแรกที่ผู้ขับขี่ต้องสำรวจความเสียหาย หรือความผิดปกติจากการลุยน้ำท่วมคือห้องโดยสาร แม้คุณจะเคลื่อนรถช้า ๆ ขณะลุยน้ำ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่น้ำจะซึมผ่านส่วนที่เป็นซีล หรือรอยต่อต่าง ๆ เข้ารถยนต์ รวมถึงรถที่ขับสวนทางอาจทำให้เกิดคลื่นน้ำจนท่วมถึงท่อไอเสีย ทำให้น้ำไหลเข้าห้องโดยสารในที่สุด

ข้อควรปฏิบัติ: หลังการขับรถลุยน้ำ ควรตรวจสอบความเสียหายทันทีหรือภายในหนึ่งถึงสองวัน โดยให้สังเกตไปที่พรมปูพื้นหากรู้สึกว่าด้านใต้พรมมีน้ำแฉะ ให้รีบนำพรมออกตากแดด และไม่ควรทิ้งให้น้ำขังอยู่ภายในรถ ควรดูดหรือเช็ดออกให้แห้งทันที จากนั้นเปิดประตูรถทั้งสี่ด้านเพื่อระบายอากาศ ไร้ความชื้นในห้องโดยสาร สำหรับรถยนต์บางรุ่นจะมีโมดูลควบคุมถุงลมนิรภัยอยู่ที่ใต้เบาะคนขับ ก็ควรดูแลไม่ให้มีความชื้นด้วยเช่นกัน

 

ตรวจสอบระบบอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า


ส่วนสำคัญที่ต้องตรวจสอบคือระบบการทำงานของรถ ซึ่งความเสียหายมักเกิดจากความชื้นจากน้ำที่เข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์และสายไฟต่าง ๆ เพื่อความมั่นใจคุณควรเช็กระบบไฟเหล่านี้ทันที

ข้อควรปฏิบัติ: ควรตรวจสอบที่ภายในกล่องฟิวส์ว่ามีความเสียหายหรือไม่ หากมีความเสียหายที่ฟิวส์ใดก็ควรเปลี่ยน โดยอ้างอิงจากที่ฝากล่องฟิวส์รถยนต์ รวมไปถึงดูกล่องอีซียู และเช็ดให้สะอาดหากเปียกน้ำ นอกจากนี้ยังควรตรวจสอบไฟต่าง ๆ ภายนอกรถด้วย หากรู้สึกว่าอยู่ในสภาพที่ไม่ปกติ ควรถอดขั้วต่อแบตเตอรี่ออก เพื่อรอให้ช่างตรวจสอบ และประเมินต่อไป

 

ตรวจสอบการทำงานเครื่องยนต์


หลังการลุยน้ำท่วมแล้ว ผู้ขับขี่ควรสังเกตอาการของเครื่องยนต์ด้วยว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ซึ่งโดยทั่วไปคนที่ขับรถตนเองประจำอยู่แล้วก็น่าจะรับรู้ถึงความผิดปกติได้ไม่ยาก

ข้อควรปฏิบัติ: เมื่อเครื่องยนต์มีอาการผิดปกติ เช่น มีอาการกระตุก เร่งเครื่องไม่ขึ้น หรือมีเสียงดังกว่าปกติ ให้จอดรถแล้วตรวจสอบก้านวัดระดับน้ำมันเครื่อง หากพบว่ามีสีเหมือนกาแฟใส่นม แสดงว่ามีน้ำเข้าไปในเครื่องยนต์ จากนั้นให้ตรวจสอบกรองอากาศ หากพบว่ากรองอากาศ และท่อไอดีจะเปียก ก็มั่นใจได้แล้วว่ามีน้ำเข้าจริง ๆ ควรนำรถส่งอู่ซ่อมเพื่อให้ช่างดูแลตั้งแต่เนิ่น ๆ ครับ

 

ตรวจสอบการใช้งานของเบรก


เมื่อขับผ่านแหล่งน้ำท่วมขังมาได้ อย่าเพิ่งเร่งเครื่องออกตัวด้วยความเร็วสูงเด็ดขาด เนื่องจากการขับรถลุยน้ำอาจทำให้ผ้าเบรกเปียก ทำให้สูญเสียการยึดเกาะหลังจากเปียกน้ำนั่นเอง ดังนั้นหากคุณเหยียบแบรกเข้าเต็มแรง รถอาจเสียหลักเนื่องจากลื่นได้

ข้อควรปฏิบัติ: ควรเหยียบเบรกย้ำ ๆ หลาย ๆ ครั้ง เพื่อทำให้ผ้าเบรกกับจานเบรก หรือดรัมเบรกอยู่ในสภาพปกติเมื่อมีการสัมผัสกันตอนเบรก แต่ต้องเข้าใจก่อนนะครับว่าผ้าเบรกจะยังไม่แห้งโดยทันที แต่ก็อาจช่วยให้ประสิทธิภาพการเบรกดีเท่าที่จะทำได้ ดังนั้นควรขับรถในความเร็วที่เหมาะสม ไม่เร็วเกินไป เพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่และผู้โดยสารครับ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้